Matteotti, Giacomo (1885-1924)

นายจาโกโม มัตเตออตีต (๒๔๒๘-๒๔๖๗)

​​​

     จาโกโม มัตเตออตตี เป็นสมาชิกรัฐสภาและหัวหน้าพรรคสังคมนิยมอิตาลี (Italian Socialist Party) ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของพรรคฟาสซิสต์ เขาวิพากษ์โจมตี ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และยุทธวิธีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและหยาบคายของพรรคฟาสซิสต์ในรัฐสภาและเชื่อกันว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกฆาตกรรมในเวลาต่อมา แต่เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำพรรคฟาสซิสต์ปฏิเสธความรับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าว
     มัตเตออตตีเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๕ ที่ฟรัตตา (Fratta) โพเลซีเน (Polesine) ทางตอนเหนือของอิตาลี เขาสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโบโลญญา (Bologna) หลังจากนั้นก็ทำงานด้านกฎหมายในพรรคสังคมนิยมอิตาลี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สิ้นสุดลง เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๑๙, ๑๙๒๑ และ ๑๙๒๔ ตามลำดับและในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคด้วย เมื่อมุสโสลีนีเคลื่อนกำลังเข้ายึดกรุงโรมในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "เดินเข้ากรุงโรม" (March on Rome) ใน เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ มัตเตออตตีต่อต้านอย่างมากและไม่เห็นด้วยกับวิตโตรีโอ เอมานูเอล ออร์ลันโด (Vittorio Emanuel Orlando)* ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนให้มุสโสลีนีเป็นนายกรัฐมนตรี
     เมื่อมุสโสลีนีก้าวสู่อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เขาเริ่มดำเนินนโยบายต่อต้านกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยการใช้ความรุนแรงโดยจัดตั้งกลุ่มก่อกวนฟาสซิสต์ที่เรียกว่า "สกวัดริสตี" (sguadristi) ขึ้น หน้าที่หลักของกลุ่มคือการข่มขู่คุกคามประชาชนและใช้กำลังก่อกวนฝ่ายตรงข้ามทั้งบีบบังคับประชาชนให้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคฟาสซิสต์ ขณะเดียวกันมุสโสลีนีก็เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งที่จะเอื้อประโยชน์ให้พรรคฟาสซิสต์กุมเสียงข้างมากในสภาได้ ฝ่ายเสรีนิยมส่วนใหญ่รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายขวาต่างสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวเพราะเชื่อว่าหากอิตาลีมีรัฐบาลที่เข้มแข็งจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้และเห็นว่ามุสโลลีนีจะยึดมั่นในกติกาตามแนวทางของรัฐสภา ในการเลือกตั้งทั่วไปในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ ผู้แทนพรรคฟาสซิสต์ได้รับเลือกเป็นจำนวนมากจากเดิม ๓๕ คนเป็น ๓๗๔ คนและกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้จนตั้งรัฐบาลขึ้นสำเร็จ
     ในการเปิดประชุมรัฐสภาเดือนพฤษภาคมสมาชิกสภาฝ่ายตรงข้ามกล่าวโจมตีการเลือกตั้งสกปรกอย่างรุนแรง และมัตเตออตตีเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่โดดเด่นในการกล้าโจมตีมุสโสลีนีอย่างเปิดเผยทั้งแสดงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นการข่มขู่และการใช้ความรุนแรงของฝ่ายฟาสซิสต์ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง มัตเตออตตียังเขียนหนังสือ The Fascist Exposed : A Year of Fascist Domination เปิดโปงการฉ้อโกงในการเลือกตั้งซึ่งทำลายความนิยมต่อรัฐบาลลงอย่างมาก ต่อมา ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน กลุ่มทหารสังกัดพรรคฟาสซิสต์ ๖ คนได้ลักพาตัวมัตเตออตตี ภริยาและครอบครัวได้ร้องเรียนเรื่องการหายตัวของเขาแต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือความร่วมมือใด ๆ จากทางการ ต่อมา ในกลางเดือนสิงหาคมมีผู้พบศพมัตเตออตตีในหลุมตื้น ๆ นอกกรุงโรมใกล้เมืองรีอาโนฟลามีนีโอ (Riano Flaminio) ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ผลการชันสูตรศพพบว่าเขาถูกมัดและ กระหน่ำแทงหลายครั้งจนเสียชีวิต
     การฆาตกรรมมัตเตออตตีได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า "วิกฤตการณ์มัตเตออตตี" (Matteotti Crisis) และเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและมุสโสลินีอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกรัฐสภา สมาชิกฝ่ายค้าน ๑๒๐ คนประท้วงด้วยการถอนตัวจากการประชุมสภา และรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลและมุสโสลีนีผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ การนัดหยุดงานและการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้ขยายตัวไปทั่ว มุสโสลินีปฏิเสธการมีส่วนร่วมของพรรคฟาสซิสต์ในฆาตกรรมที่เกิดขึ้นและพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการประกาศจะจับกลุ่มฆาตกรมาลงโทษและสั่งปลดหัวหน้าตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจ่ายเงินชดเชยให้แก่ครอบครัวมัตเตออตตีด้วย ขณะเดียวกันมุสโสลีนีก็แต่งตั้งนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้เข้าร่วมในคณะรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองก็ไม่ได้ดีขึ้นและสื่อต่างประเทศก็โจมตีการฆาตกรรมที่เชื่อกันว่าพรรคฟาสซิสต์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีส่วนทำให้การวิจารณ์โจมตีพรรคฟาสซิสต์ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ทั้งสร้างแรงกดดันต่อพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmamuel III)* ให้ดำเนินการปลดมุสโสลีนีออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ ทั้งไม่ยอมพิจารณาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีเนื่องจากทรงตระหนักว่ามุสโสลินีและพรรคฟาสซิสต์คือฐานกำลังสำคัญที่สนับสนุนอำนาจของพระองค์ ต่อมารัฐบาลสามารถจับกุมกลุ่มฆาตกรที่สังหารมัตเตออตตีได้ ๔ คน คนทั้งสี่ยอมรับสารภาพความผิดโดยให้การว่ามุสโสลีนีไม่มีส่วนรู้เห็นในการสังหารและมัตเตออตตีพยายามหลบหนีซึ่งทำให้พวกเขาเกิดอารมณ์ขุ่นเคืองจนต้องสังหาร ศาลตัดสินจำคุกคนละ ๖ ปี แต่หลังการจองจำได้ ๒ ปีนักโทษทั้งหมดก็ได้รับอิสรภาพ
     ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๕ มุสโสลีนีซึ่งตระหนักว่ากลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรม ชนชั้นกลางระดับสูง ศาสนจักรและกองทัพต่างสนับสนุนเขาเพราะหวาดวิตกต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในสภาโดยขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เขาจะ ไม่ได้เป็นผู้กระทำหรือออกคำสั่งก็ตาม เขาประกาศว่าพรรคฟาสซิสต์จะสร้างความเป็นระเบียบและสันติภาพรวมทั้งการทำงานที่สงบในสังคมภายในเวลาอันสั้นสุนทรพจน์ของมุสโสลีนีจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปกครองของพรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี เพราะในเวลาต่อมามุสโสลีนีสามารถยกเลิกระบอบรัฐสภาและจัดตั้งการปกครองในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ.



คำตั้ง
Matteotti, Giacomo
คำเทียบ
นายจาโกโม มัตเตออตีต
คำสำคัญ
- มัตเตออตตี, จาโกโม
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ลัทธิฟาสซิสต์
- รีอาโนฟลามีนีโอ, เมือง
- วิกฤตการณ์มัตเตออตตี
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓, พระเจ้า
- สกวัดริสตี
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ออร์ลันโด, วิตโตรีโอ เอมานูเอล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1885-1924
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๒๘-๒๔๖๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf